Dynamic Capabilities for Success
by
February 02, 2017
“Excellence is a continuous process and not an accident.” — A.P.J. Abdul Kalam
หากจะให้พูดถึงปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ เชื่อว่าหลายคนอาจจะสามารถแจกแจงได้เป็นหน้าๆ แต่หากได้มาดูแต่ละธุรกิจและที่มาที่ไปกันจริงๆ แล้ว ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จด้วยความบังเอิญหรือจากโอกาสที่ฉาบฉวย จากการทำบางสิ่งบางอย่างที่ถูกที่ถูกเวลา และอีกประเภทคือธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการมีการวางแผนที่ดี ที่รอบคอบ มีทิศทางและกลยุทธ์ที่ชัดเจน และมีบุคลากรที่มีความสามารถ
ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ
ความสำเร็จของธุรกิจเกิดจากสองปัจจัยหลักด้วยกัน คือ ไม่เก่งก็เฮง เฮง คือการทำบางสิ่งบางอย่างในเวลาที่ถูกต้องเหมาะสม โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็จะมีมากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น Blackberry ที่ในช่วงแรกก็ประคับประคองธุรกิจมานานหลายปี ลองผิดลองถูก และยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก หากพูดชื่อ Blackberry ในสมัยนั้นคนอาจจะยังนึกถึงผลไม้อยู่ก็ได้ จนกระทั่งผู้บริหารได้เห็นกระแสของการเติบโตของเว็บ อีเมล์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงได้ตัดสินใจตั้งใจศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถทำให้ผู้คนรับส่งอีเมล์ได้แม้ไม่ได้อยู่ในที่ทำงาน แน่นอนว่ากระแสหรือเทรนด์เหล่านี้ไม่ได้มีเพียง Blackberry เท่านั้นที่รู้ คู่แข่งและผู้เล่นอื่นๆ ในตลาดต่างก็รู้ถึงเทรนด์ที่กำลังโตนี้ แต่ Blackberry ได้นำสองเทรนด์มารวมกันได้อย่างพอดีในเวลาที่เหมาะสม ทำให้ผู้คนรู้จัก Blackberry ในนามของยี่ห้อโทรศัพท์มือถือที่ส่งอีเมล์ได้ ให้ความสะดวก ใช้งานง่ายและปลอดภัย
การทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง
แต่อย่างที่รู้กันดี ว่าความสำเร็จที่ได้มาเพราะความเฮงมักไม่ยั่งยืนในระยะยาว ในขณะที่สภาพแวดล้อมและความต้องการของผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย กลยุทธ์และความได้เปรียบในการแข่งขันก็ต้องปรับปรุงและพัฒนาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริงจึงต้องมาจากความสามารถภายในองค์กรเอง
องค์กรหลายๆ แห่งเชื่อว่าทักษะและความสามารถเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อผลประกอบการโดยตรง และเป็นปัจจัยที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หลายองค์กรมีการจัดสัมมนา training และ coaching ต่างๆ ให้กับพนักงานและผู้บริหารอยู่เสมอ รวมถึงการ ซื้อตัวบุคคลที่มีความสามารถจากภายนอกแม้ว่าจะต้องจ่ายในราคาแพงก็ตาม แต่ “ความสามารถ” ที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องไม่ใช่ความสามารถที่ยืดหยุ่นไม่ได้ ความสามารถที่องค์กรควรจะมีคือความสามารถที่มีความยืดหยุ่นและมีความพลวัตมากพอที่จะปรับเปลี่ยนได้ตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เมื่อกลยุทธ์มีการเปลี่ยนแปลง ความสามารถในการปฏิบัติหรือดำเนินงานก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ดังนั้น ในบางกรณีการพัฒนาให้บุคลากรมีทักษะหรือความสามารถเฉพาะอาจทำให้องค์กรตกอยู่ในความเสี่ยงได้ไม่ว่าธุรกิจนั้นจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความพลวัตมากหรือน้อยก็ตาม
“ความสามารถเชิงพลวัต”คือกุญแจสำคัญ
ดังนั้น จึงได้มีการนำเสนอแนวคิดของ “ความสามารถเชิงพลวัต” ซึ่งเป็นแนวคิดรูปแบบใหม่ในการได้มาซึ่งความได้เปรียบในการแข่งขัน ความสามารถเชิงพลวัตหมายถึงความสามารถขององค์กรในการ “สร้าง, ต่อยอด, หรือ ดัดแปลง” ทรัพยากรที่มีได้อย่างเฉียบขาดเพื่อตอบสนองภาวะเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม
1. การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
“ความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ” มักจะพบเห็นในฝ่ายวิจัยและพัฒนาขององค์กร ซึ่งทำหน้าที่ศึกษา ค้นคว้า และเรียนรู้ทรัพยากรขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือสินทรัพย์ และนำความรู้ความเข้าใจนั้นมาสร้างสิ่งใหม่ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นด้านนวัตกรรมใหม่ๆ หรือสิ่งที่ทำเพื่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาสิ่งเดิมให้ดียิ่งขึ้น เช่น โคคาโคล่า หรือเครื่องดื่มโค้กที่เรารู้จักกันก็เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เมื่อหลายปีก่อน โค้กได้ร่วมมือกับ Leo Burnett Colombia ในการศึกษาและพัฒนาตู้เย็นที่ต้องไม่ต้องใช้ไฟฟ้า หลังจากค้นคว้าและพัฒนาได้หนึ่งปี โค้กก็ได้ทดลองใช้ตู้เย็นชีวภาพดังกล่าวในเมือง Aipir ซึ่งถือว่าเป็นเมืองที่ร้อนที่สุดเมืองหนึ่งในประเทศโคลอมเบีย ตู้เย็นดังกล่าวทำงานเหมือนกับตู้หยอดเหรียญโดยสามารถเก็บเครื่องดื่มกระป๋องได้สูงสุดสามชนิด ถึงแม้ว่าการทำงานของตู้เย็นชีวภาพออกแบบมาจากการดัดแปลงความรู้พื้นบ้านซึ่งเปลี่ยนให้อากาศเย็นได้จากการระเหยของน้ำ แต่การนำเสนอตู้เย็นชีวภาพนี้ในครั้งนี้ก็ช่วยชาวบ้านชนบทในเขตเมืองร้อนไว้ได้เยอะ เนื่องจากปกติชาวบ้านต้องเดินทางเป็นชั่วโมงเพื่อเข้าเมืองไปซื้อน้ำเย็น และนอกจากนี้ยังทำให้โค้กสามารถเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหม่ได้อีกด้วย
2. การต่อยอดทรัพยากร
“ความสามารถในการต่อยอดทรัพยากร” สามารถพบเห็นได้กว้างขวางกว่า เช่น การขยายไปสู่กิจการใหม่บนรากฐานของทรัพยากรเดิม บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google นับว่าเป็นตัวอย่างที่น่าจะอธิบายให้เห็นภาพได้มากที่สุด เดิมที Google เริ่มต้นด้วยการเป็น search engine และด้วยข้อมูลทั้งหมดที่มีจากผู้ใช้ทั่วโลก ธุรกิจของ Google ตอนนี้ขยายมาสู่โฆษณา อีเมล์ รวมถึง cloud office อีกหนึ่งตัวอย่างที่คนไทยหลายคนอาจไม่ทราบคือ Fujifilm ซึ่งเป็นที่รู้จักในวงการภาพถ่ายและกล้อง ได้ขยายมาทำธุรกิจในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เครื่องสำอาง อาหารเสริม และเครื่องดื่ม โดยทั้งหมดนี้ Fujifilm ได้ต่อยอดจากเทคโนโลยีการล้างภาพ โดยทั่วไปภาพถ่ายจะมีสีที่ซีดลงตามกาลเวลาอันเกิดจากรังสียูวีจากแสงอาทิตย์ ภายหลัง Fujifilm สามารถคิดค้นสูตรอนุภาคนาโนและเทคโนโลยีต้านอนุมูลอิสระซึ่งช่วยป้องกันรังสียูวีและป้องกันการซีดของสีภาพ ด้วยหลักการเดียวกันนี้ Fujifilm จึงได้พัฒนาต่อจนได้ออกมาเป็นแบรนด์เครื่องสำอาง Astalift ที่ช่วยดูแลปกป้องผิวจากรังสียูวีและช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน โดยฟูจิได้ใช้แนวคิดที่ว่าไม่ใช่แค่ภาพสวย ผิวจริงก็ต้องสวยเช่นกัน และเมื่อไม่นานมานี้ Fujifilm ได้ร่วมมือกับแบรนด์เครื่องดื่ม Kirin ในประเทศญี่ปุ่นเปิดตัวเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ตัวใหม่ Kirin Astalift Water ซึ่งมีส่วนผสมของคอลลาเจนและแอสตาแซนธิน
3. การดัดแปลงทรัพยากร
“ความสามารถในการดัดแปลงทรัพยากร” หมายถึง ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มคุณค่าให้กับทรัพยากรเดิมที่มีอยู่ ซึ่งกระบวนการนี้พบเห็นกันได้อย่างแพร่หลายในการแข่งขันของทุกอุตสาหกรรม อาทิ ตลาดของเทียนไขมีการแข่งขันสูงมาก ใครๆ ก็ทำได้ ใครที่สามารถทำได้ถูกกว่าก็ชนะไป ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องทำบางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างจากเดิม เพื่อจะได้ไม่ต้องตกอยู่ในสมรภูมิของสงครามราคาตลอดเวลา นั่นจึงเป็นที่มาของการเพิ่มมูลค่าให้กับเทียนไขปกติ โดยการทำให้เป็นเทียนหอม มีกลิ่นและรูปลักษณ์ที่แตกต่างและดึงดูดผู้บริโภค สามารถตั้งราคาได้สูงขึ้น แต่แน่นอนว่าวาระโอกาสที่คนจะซื้อใช้ก็ต่างกัน แต่นั่นก็เป็นวิธีการเพิ่มคุณค่าให้กับทรัพยากรอย่างหนึ่ง คือการพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีกว่าเดิมนั่นเอง
บทสรุปขององค์กรที่มี “ความสามารถเชิงพลวัต”
ความสามารถเชิงพลวัตนำมาซึ่งประโยชน์ต่างๆ ให้กับองค์กร ความสามารถเชิงพลวัตก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ให้องค์กรได้กลับมาทบทวนทรัพยากรที่มีและเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้องค์กรได้เห็นช่องทางธุรกิจใหม่ๆ หรือโอกาสในตลาดใหม่จากทรัพยากรเดิม เช่นในตัวอย่างของ Fujifilm สภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นบทบาทที่เพิ่มขึ้นของคู่แข่งจากต่างประเทศ และเทคโนโลยีดิจิตอลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นแรงกดดันสำหรับธุรกิจในอุตสาหกรรมฟิล์มและภาพถ่าย Fujifilm ได้กลับมามองและทบทวนจุดแข็งและทรัพยากรหรือสินทรัพย์ของธุรกิจอีกครั้ง เริ่มต้นศึกษาวิจัยและพัฒนาต่อยอดจากนาโนเทคโนโลยีที่มีเป็นทุนเดิม จนสุดท้ายได้ต่อยอดธุรกิจเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ
ดังนั้น องค์กรที่มีความสามารถเชิงพลวัตต้องรู้จักบริหารสมดุลระหว่างความเสถียรมั่นคงและความสามารถในการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหมายความว่า ความสามารถที่องค์กรมีนั้นควรจะมีความมั่นคงมากพอในการนำเสนอคุณค่าในแบบฉบับของตนให้ลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันความสามารถนั้นก็ต้องมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะสามารถปรับเปลี่ยนได้หากอยู่ภาวะจำเป็น