Knowledge

Success Measurement

Is your business successful? How to measure and define success

‘ความสำเร็จในโลกธุรกิจ’ คำพูดชวนฝัน..ของจริงวัดกันที่ตรงไหน

ประโยคยอดฮิตที่นักธุรกิจหรือผู้ประกอบการทุกคนพูดเสมอ เมื่อถึงเวลาต้องให้สัมภาษณ์หรือแสดงวิสัยทัศน์ต่อสาธารณชน สื่อ หรือแม้กระทั่งทีมงานของตนเอง คงหนีไม่พ้น ความต้องการประสบความสำเร็จในธุรกิจที่ตัวเองกำลังทำอยู่ เมื่อมองในธุรกิจเดียวกัน ทำอย่างไรเราถึงประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น และอะไรคือตัววัดความสำเร็จของโลกธุรกิจที่ใครหลายคนฝันอยากให้เป็นจริง

Definition of successful business

กำไรมากขึ้นหรือลดลง วัดได้หรือไม่?

กำไรมากขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ทั้งปัจจัยที่เราคุมได้ (ปัจจัยภายใน) และคุมไม่ได้ (ปัจจัยภายนอก) การกล่าวเรื่องกำไรของธุรกิจ จึงเป็นการระบุได้ยากว่า นั่นเป็นกำไรที่เกิดขึ้นจากฝีมือการบริหารงานที่เหนือกว่าหรือเป็นเพียงแค่ความโชคดี

ตัวอย่าง 1 : ธุรกิจรถยนต์ในไทย ปี 2555

การสนับสนุนของรัฐบาลเรื่องนโยบายรถคันแรก ส่งผลต่อการทำกำไรให้กับบริษัทรถยนต์ โดยที่บริษัทเหล่านั้นไม่ได้จะดำเนินการอะไรที่แตกต่างไปจากปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมรถยนต์ในปีนี้ไม่ได้นวัตกรรมที่โดดเด่น หรือมีความเก่งหรือความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นแต่อย่างใด

ตัวอย่าง 2 : เหตุการณ์น้ำท่วม ปี 2555

หลายธุรกิจขายสินค้าและบริการได้น้อยลง ทำให้กำไรลดลง เป็นต้น ดังนั้น กำไรมากขึ้นหรือลดลงไม่ได้บอกอะไรในเชิงของการบริหารจัดการ หรือ การขึ้นราคาของน้ำดื่มในช่วงนั้น เนื่องจากความต้องการของตลาดมาก ถือเป็นกำไรที่ฉาบฉวยไม่ได้สามารถทำได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว

ดังนั้น หลักการง่ายๆ สำหรับการระบุความสำเร็จของธุรกิจจึงประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ

กำไรธุรกิจ (Return on Invested Capital) มากขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

ขอเน้นว่า กำไรธุรกิจเมื่อเทียบกับคู่เเข่งขัน นั่นคือ ในภาวะเหตุการณ์เดียวกัน ความสามารถของธุรกิจเราในการทำกำไรสูงหรือต่ำกว่าคู่เเข่งทางธุรกิจของเรา เมื่อเทียบบนฐานการลงทุนที่เท่ากัน

การเติบโตของธุรกิจ ( Revenue ) มากขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน

ส่วนใหญ่เรามักสับสน โดยวัดผลจากการเติบโตของธุรกิจก่อนกำไร ซึ่งการเติบโตของธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง แท้จริงนั้น ควรเป็นการเติบโตจากผลกำไรที่ตัวธุรกิจสร้างขึ้นมาได้เอง ใช้กำไรที่แท้จริงของธุรกิจในการลงทุนเพื่อการเติบโต (Reinvestment)

การเติบโตจากปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่กำไรของธุรกิจ จริงๆแล้วถือเป็นต้นทุน เช่น การกู้เงินจะต้องมีต้นทุนดอกเบี้ยและความเสี่ยงที่จะไม่ยั่งยืนจากการเป็นหนี้ เช่น การ Takeover บริษัทคู่เเข่ง ความซับซ้อนภายใต้ธุรกิจหลังการซื้อขายเป็นตัวแปรสำคัญ แน่นอนว่าบริษัทที่ต้องการขายกิจการ ย่อมนำเสนอสิ่งที่น่าสนใจให้กับผู้ซื้อ แต่แท้จริงแล้ว ยังมีเรื่องภายในธุรกิจหรือองค์กรนั้นอีกมากที่เรายังไม่รู้ ถึงแม้ในองค์กรธุรกิจดังกล่าวจะมีการทำ Due diligent ก่อนการซื้อขายแล้วก็ตาม งานวิจัยในปัจจุบันหลายชิ้น ระบุว่า บริษัทที่เข้าไป Takeover กิจการอื่น หรือ Merger and Acquisition แท้จริงแล้วไม่ได้ทำให้คุณค่าตัวเองสูงขึ้น

ถ้าเราตั้งใจจะทำธุรกิจนั้น หรือมีความสนใจว่าจะเพิ่มผลิตภัณฑ์หรือบริการต่อยอดจากธุรกิจของตัวเองอยู่ และมีคนมาเสนอขาย ก็อาจเป็นเรื่องดี หากคุณพิจารณาจะตัดสินใจซื้อกิจการนั้นได้ในราคาที่เหมาะสม แต่โอกาสที่เหมาะสมไม่ได้มีอยู่ตลอด ดังนั้นจึงควรพิจารณาเป็นครั้งคราวไป (Opportunistic) มากกว่าการกำหนดเป็นกลยุทธ์

บริษัทที่ไม่ลงทุนเพื่อการเติบโต จะกลายเป็นบริษัทที่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ และในอนาคตจะมีปัญหาเรื่องอำนาจการต่อรอง เช่น การซื้อวัตถุดิบจาก supplier หรือ การเป็นผู้ผลิตรายเล็กในสายตาของผู้บริโภค ความเชื่อมั่นของธุรกิจจะต่ำลง การไม่พยายามเติบโต power ของธุรกิจก็จะค่อยๆจะหายไป

ความยั่งยืนของธุรกิจ

ความยั่งยืนในด้านธุรกิจ คือความสามารถของธุรกิจในการทำกำไรและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง วิธีหนึ่งก็คือ การมุ่งเน้นทำในสิ่งที่เป็นความสามารถที่แท้จริงของตนเอง และอยู่ในกระเเสของตลาด (Global Mega Trends) โดยทำในสิ่งที่มีคุณค่าพอที่ผู้บริโภคจะจ่ายเงินให้กับธุรกิจของเรา เป็นสิ่งที่คู่เเข่งขันเราทำไม่ได้ หรือ ไม่อยากทำ คำถามคือ หลายธุรกิจในปัจจุบันทำหรือเตรียมพร้อมกับการทำสิ่งที่มีคุณค่าในอนาคตแล้วหรือยัง?

การประสบความสำเร็จของธุรกิจที่แท้จริงจึงมาจากองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนดังกล่าว ซึ่งการนำไปสู่ความสำเร็จทั้งในด้าน การทำกำไรที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าคู่แข่งขัน การเติบโดทางด้านรายได้มากกว่าคู่เเข่งขัน และความยั่งยืนของธุรกิจนั้น แต่ละธุรกิจจำเป็นต้องมีการวางกลยุทธ์ในการดำเนินงานอย่างชัดเจนและแตกต่าง มีความจำเพาะเหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง โดยประเมินจากความสามารถในการทำธุรกิจของตนและกระแสความเปลี่ยนไปของโลกในอนาคต

Related Posts