EXPLORE THE HORIZON

โดย ดร.ธนัย ชรินทร์สาร
18 ธันวาคม 2016
“Until you cross the bridge of your insecurities, you can’t begin to explore your possibilities.”—Tim Fargo
การกระจาย (diversify) สามารถทำได้ทั้งในระดับขององค์กรและในระดับบุคคล แต่ส่วนมากการกระจายมักจะถูกนำไปใช้ในเรื่องของการกระจายความเสี่ยงด้านธุรกิจและการลงทุนมากกว่า ซึ่งเรื่องของการกระจายในบทความนี้ จะไม่ได้หมายถึงการกระจายความเสี่ยงอย่างเดียว แต่รวมถึงการกระจายการเติบโตไปสู่สิ่งใหม่ๆ การเลือกทิศทางการเติบโตใหม่ๆให้กับองค์กร
สิ่งที่เป็นที่น่าสังเกตสำหรับหลายธุรกิจที่ดำเนินกิจการมาได้จนอยู่รอด คือการเติบโตจากสินค้าเดิมและลูกค้ากลุ่มเดิม (Concentric growth) ที่เพิ่มเติมเป็นเพียงสีสันและการเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นลูกเล่นในการสร้างความสดใหม่ให้กับลูกค้ากลุ่มเดิมเท่านั้นเอง ตัวอย่างเช่น มาชิตะขายสาหร่ายให้กับลูกค้ากลุ่มเดิมด้วยสินค้าเดิม เพียงแต่เปลี่ยนรสชาติ เปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งเท่านั้นเอง และเหตุผลที่หลายองค์กรเลือกที่จะเติบโตเช่นนี้ก็เพราะมันง่ายและความเสี่ยงน้อย เรียกว่าอยู่ใน comfort zone ที่ตนคุ้นเคย มีความได้เปรียบ มีประสบการณ์
ในขณะเดียวกัน การพัฒนาของเทคโนโลยีที่รวดเร็วขึ้นและทันสมัยขึ้นทำให้จำนวนคู่แข่งในตลาดใหม่และตลาดเดิมเพิ่มสูงขึ้นด้วย รวมทั้งผู้บริโภคก็เปิดรับสิ่งใหม่ๆมากขึ้นและง่ายขึ้น ทำให้วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์สั้นลง (product lifecycle) ดังนั้น หากจะให้ธุรกิจโตอยู่บนสิ่งเดิมๆ อาจเป็นการเสี่ยงเกินไป เพราะถ้าวันหนึ่งผู้บริโภคไม่นิยมสินค้าของธุรกิจนั้นอีกต่อไป องค์กรนั้นก็ต้องตายจากไป
ดังนั้นจึงมีแนวคิดของการขยาย portfolio หรือการกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจอื่น ด้วยตลาดอื่นหรือสินค้าอื่นนั่นเอง
การกระจาย (DIVERSIFY) ต้องตอบคำถาม 3 ข้อดังต่อไปนี้
- ต้องรู้ก่อนว่าต้องการจะขยาย portfolio ไปในอุตสาหกรรมใด โดยการเลือกและตัดสินใจนั้นสามารถดูได้จากปัจจัยภายนอกหลายอย่าง เช่น เทรนด์ในอนาคตเป็นเช่นไร อัตรากำไรกับผู้เล่นในอุตสาหกรรมนั้นเป็นอย่างไร และอัตราการเติบโตที่ผ่านมาเป็นเช่นไร
- เรื่องของการคัดเลือกวิธีการเข้าอุตสาหกรรมนั้นๆ (mode of entry) เช่น จะเข้าด้วยกลยุทธ์ใด ซึ่งวิธีการเข้าตลาดสามารถแยกออกเป็นสามชนิด ได้แก่ ช่องทางที่เกี่ยวกับการค้า เช่น การนำเข้าและส่งออก ช่องทางที่มีการทำสัญญา ได้แก่ แฟรนไชส์และการซื้อลิขสิทธิ์ และสุดท้ายคือช่องทางที่มีการลงทุน ได้แก่การไป joint venture กับบริษัทอื่น หรือการไปตั้งบริษัทหรือธุรกิจใหม่เอง ทำเองตั้งแต่ต้น ซึ่งโดยส่วนมาก การองค์กรต้องการขยาย portfolio เพื่อกระจายความเสี่ยง มักจะเป็นการใช้ช่องทางการเข้าอุตสาหกรรมอย่างสองข้อหลังมากกว่า
- ในอุตสาหกรรมใหม่นั้น องค์กรจะมีหรือควรมีความได้เปรียบเชิงการแข่งขันอะไร (competitive advantage) เพราะแน่นอนว่าการขยาย portfolio นั้น เป็นเพียงการกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจอื่น ไม่ได้เป็นการสร้างตลาดใหม่ ไม่ใช่ blue ocean strategy อย่างเต็มตัว ดังนั้น การจะไปแข่งขันกับผู้เล่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้นๆ ก่อนอยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องมีความได้เปรียบบางอย่าง เพราะหากจะสู้ด้วย first-mover advantage ก็คงไม่ได้ หรือบางทีเราอาจเห็นเทรนด์หรือแนวโน้มบางอย่างจากผลการศึกษา แต่แน่นอนว่าถ้าเราเห็น ธุรกิจอื่นก็ต้องเห็น และถ้าอุตสาหกรรมนั้นมีแนวโน้มการเติบโตสูงมาก ก็ไม่แปลกใจหากจะมีผู้เล่นกระโดดลงสนามแข่งในอุตสาหกรรมนั้นพร้อมกันหลายราย ดังนั้น องค์กรจึงต้องสร้างจุดขายและสร้างความแตกต่างซึ่งเป็นความได้เปรียบเชิงการแข่นขันให้ได้ หากไม่มีความได้เปรียบใดๆ ก็อาจไม่คุ้มกับการลงทุนก็เป็นได้ อาจจะได้แค่การคว้ากำไรฉาบฉวยในระยะสั้น แต่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนแน่นอน
การสร้างจุดขายหรือความได้เปรียบมักจะทำได้ในสามรูปแบบ
1) การสร้างความแตกต่าง (differentiation)ให้เหนือกว่าคู่แข่ง
2) ความได้เปรียบในเชิงต้นทุน (low-cost) เพื่อสามารถขายได้ในราคาถูกที่สุดในตลาด และ
3) system lock-in คือการเป็นผู้นำในตลาด เป็นผู้กำหนดมาตรฐานของตลาด และไม่มีสินค้าหรือบริการใดที่สามารถมาทดแทนหรือตอบสนองความต้องการของลูกค้าแทนเราได้
ในกรณีของสองข้อแรก เป็นทฤษฎีเก่าที่ส่วนใหญ่ก็ทราบกันแล้วไม่มากก็น้อย สำหรับ system lock-in อาจเป็นสิ่งใหม่สำหรับบางคนและอาจไม่คุ้นชิน ตัวอย่างขององค์กรที่สามารถทำ system lock-in ออกมาได้ดีก็คือ Wintel (Window และ Intel) ซึ่งสามารถสร้างมาตรฐานให้กับวงการ PC และสามารถสร้างเครือข่าย (Network) แบบที่แต่ละผู้ให้บริการ (service provider) หรือผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น (app developer) ต่างก็อยากเป็นหุ้นส่วนด้วย คู่แข่งที่พยายามจะสร้างสินค้าให้เหมือนกันหรือสร้างมาตรฐานอื่นที่ดีกว่าก็ไม่สามารถสร้างเครือข่ายของพาร์ทเนอร์ได้เทียบเท่ากับเครือข่ายของ Wintel ทำให้การพัฒนาเป็นไปได้ช้ากว่ามาก จนไม่สามารถแข่งขันได้ในที่สุด ตัวอย่างเช่น Apple
ส่วนการกระจาย (diversify) ในระดับของบุคคลที่ได้เกริ่นไว้ในตอนต้นนั้น แน่นอนว่าทุกคนย่อมต้องมีการวางแผนชีวิตและวางแผนอนาคตไว้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของหน้าที่การงาน นิสิตนักศึกษาที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาก็ต้องเริ่มคิดแล้วว่าจะสมัครที่ไหน หรือแม้แต่พนักงานในองค์กรเองก็ควรจะคิดเช่นกันว่าเส้นทางก้าวหน้าในอาชีพ (career path) เป็นอย่างไร ควรจะอยู่กับองค์กรนี้ตลอดไปหรือไม่ หรือบางคนไม่ชอบงานที่ทำ ก็ต้องเริ่มคิดแล้วว่าควรจะเปลี่ยนไปสายงานไหนดี
หลักการและคำถามที่ต้องตอบตัวเองให้ได้ก็เหมือนกับคำถามที่ถามในระดับองค์กร อันดับแรกคือการเลือกอุตสาหกรรม โดยอาจคำนึงถึงปัจจัยจำพวก เงินเดือนของอาชีพในอุตสาหกรรมนั้นเป็นอย่างไร career path เป็นอย่างไร แนวโน้มการเติบโตเป็นอย่างไร ข้อสองคือต้องตัดสินใจว่าจะเริ่มลงมือทำเองหรือจะไปสมัครงานเป็นลูกจ้างในองค์กร และข้อสุดท้ายก็เป็นเรื่องของการสร้างความได้เปรียบเช่นกัน ทำอย่างไรจึงจะเป็นหนึ่งในผู้สมัครงานที่โดดเด่นและได้รับคัดเลือก เช่น อาจมี license หรือ certificate เสริมต่างๆ และหลังจากได้มาทำงานแล้ว จะสร้างความโดดเด่นระหว่างปฏิบัติงานได้อย่างไร