STRATEGIC LEARNING – HOW TO CREATE THE STRATEGY?
โดย ดร.ธนัย ชรินทร์สาร
10 สิงหาคม 2016
“ The plan is nothing but planning is everything ” - Dwight D. Eisenhower
กระบวนการสร้างกลยุทธ์ โดย STRATEGIC LEARNING (SENSE & RESPONSE)
STRATEGIC LEARNING การเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การวางแผน
Strategic Learning Cycle
ทฤษฎีนี้เป็นการผสมผสานของทั้งสองทฤษฎีใน กระบวนการสร้างกลยุทธ์ (1) โดยการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่แผนกลยุทธ์นั้น จำเป็นต้องมีการตรวจสอบย้อนกลับตลอดเวลา (Feedback Loop) เพื่อปรับปรุงสิ่งที่เราทำไปแล้วให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น การผสมผสานแนวทางของทั้งสองทางแรกนี้เราเรียกว่า Strategic Learning Cycle
PHASE 1 : DIAGNOSE การวินิจฉัยธุรกิจ (ระยะเวลา 2-3 เดือน)
ธุรกิจควรกลับมาเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นและผลของกลยุทธ์ในปีที่ผ่านมาทั้งด้านประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากร ความเปลี่ยนแปลงของตลาดและคู่แข่งขัน ขั้นตอนนี้ควรมีการรวบรวมข้อมูลให้มาก เนื่องจากการมีข้อมูลเยอะประกอบกับการใช้ Sense จะทำให้เกิด Insight ของธุรกิจในช่วงเวลานั้นได้ และช่วยให้การวางแผนธุรกิจมีความแม่นยำมากขึ้น เพราะไม่ได้เกิดจาการวางแผนโดยไร้ข้อมูลแต่เพียงอย่างเดียว กลุ่มคนที่รับผิดชอบคือ คนทุกระดับในองค์กรที่จะช่วยกันให้ข้อมูลที่เกิดจากการเรียนรู้ของทุกคน เช่น การพูดคุยกับลูกค้า ความพึงพอใจของ Supplier และข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในตลาดปัจจุบัน
PHASE 2 : DESIGN การออกแบบธุรกิจ (ระยะเวลา 2-3 วัน)
ธุรกิจควรเริ่มมีการออกแบบกลยุทธ์ธุรกิจ เพื่อสร้าง Competitive Advantage และ Innovation โดยนำ Insight ที่ได้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลเขียนออกมาเป็นแผนกลยุทธ์ (Strategic Plan) ผลลัพธ์ของขั้นตอนนี้คือ ธุรกิจจะได้ไอเดียเพื่อใช้ในการสำรวจแนวความคิดธุรกิจนั้นต่อไป โดยอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลและความเข้าใจของสถานการณ์ปัจจุบัน
กลุ่มคนที่รับผิดชอบคือ ผู้บริหารระดับสูง โดยใช้เครื่องมือที่เหมาะกับสถานการณ์นั้นๆ เช่น SWOT, 5-Force ในทางปฏิบัตินั้น ควรให้ผู้บริหารออกนอกสถานที่ เพื่อสร้างไอเดียที่ดีให้เกิดขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้คือ Idea ที่ควรมีการศึกษาและสำรวจเพื่อพัฒนาเป็นแผนกลยุทธ์ต่อไป
PHASE 3 : การวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางธุรกิจ (ROI) (ระยะเวลา 1-2 เดือน)
ขั้นตอนนี้คือการทำ Business Plan เพื่อวิเคราะห์ว่ากลยุทธ์ที่ธุรกิจตัดสินใจว่าจะเลือกใช้นั้น มีประโยชน์ในทางการเงินแก่บริษัทจริง เป็นการตรวจสอบไอเดียของขั้นตอนการออกแบบธุรกิจว่าไอเดียที่ได้มานั้นสามาถนำไปทำให้เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ (Good idea that works) Business Plan จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ
การวางแผนทางการขายและการตลาด (Marketing Plan) เพื่อศึกษา Market Feasibility ทั้งด้านคุณภาพของสินค้าหรือบริการ ราคาที่เหมาะสมในตลาด สถานที่และช่องทางการจัดจำหน่าย
การวางแผนกระบวนการทำงาน (Operational Plan) เช่น Activity System ทั้งหมดของธุรกิจ ต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง กำลังการผลิตและต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นอย่างไร โครงสร้างองค์กรต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อรองรับแผนกลยุทธ์นี้
การวางแผนทางการเงิน (Financial Plan) เพื่อประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน ทั้งการคำนวณหา NPV, IRR และ ROI เป็นต้น ในขั้นตอนนี้ไม่ใช่การทำครั้งเดียวแล้วจบไป แต่เป็นการวางแผนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และขยายความมุ่งหวังของธุรกิจให้เป็นจริง มีความแม่นยำถูกต้อง และช่วยให้ธุรกิจทำงานได้ง่ายขึ้น ทำให้ธุรกิจเรียนรู้ได้ว่า หากเราใช้แผนกลยุทธ์นี้จริง ธุรกิจจะต้องทำอะไรบ้างและคาดหวังอะไรจากการปฏิบัติตามแผนกลยุทธ์นี้ได้บ้าง
กลุ่มคนที่รับผิดชอบคือ ผู้บริหารระดับกลางจากหลากหลายหน่วยงาน เนื่องจากเป็นผู้ดำเนินงานจริง ซึ่งจะทราบทั้งในส่วนรายละเอียดในการเงิน องค์ประกอบของหน่วยงาน ส่วนมากมักเป็นนักคิด นักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
PHASE 4 : การสร้างโครงการนำร่อง (PILOT SCALE) (ระยะเวลา 3-4 เดือน)
เราไม่สามารถทำนายได้ว่าแผนที่วางไว้จะสำเร็จได้อย่างที่ต้องการจริงหรือไม่ การทำโครงการนำร่องจะช่วยให้ธุรกิจได้เกิดการลองผิดลองถูกและเกิดการเรียนรู้ ซึ่งโครงการนำร่องที่ดีต้องเป็นการทำแบบครบวงจรใน Scale ที่เล็กที่สุด โดยมีการประเมินผลลัพธ์จากการดำเนินงานภายหลังจากครบกำหนดเวลา เพื่อให้ธุรกิจเกิดการเรียนรู้ว่า ควรใช้แผนกลยุทธ์ดำเนินการต่อในระดับใหญ่ต่อไปดีหรือไม่ หรือหากผลลัพธ์ (ทางการเงิน) จากโครงการไม่เป็นไปตามที่คาด ก็ต้องระบุได้ว่า หากจะให้ประสบผลสำเร็จจริงต้องประกอบด้วยเงื่อนไขใดบ้าง หลายธุรกิจไม่จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ ไม่ต้องมีการเรียนรู้ตลาด เช่น ธุรกิจดิจิตอล แต่ในขณะเดียวกันบางธุรกิจจำเป็นต้องมีการเรียนรู้ เช่น ธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น
กลุ่มคนที่รับผิดชอบคือ กลุ่มคนที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เข้าใจในเรื่องการบริหารโครงการ กล้าเสี่ยงและมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนมากมักเป็น Talent ในองค์กร
PHASE 5: การลงมือปฏิบัติธุรกิจตามแผนกลยุทธ์จริง (EXECUTION)
เมื่อถึงขั้นตอนสุดท้ายนี้ ทุกคนในองค์กรต้องเป็นผู้ลงมือปฏิบัติจริง โดยมีผู้บริหารเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีProject Manager เป็นผู้ดำเนินการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่อง วิธีการวัดผลความสำเร็จ กระบวนการดำเนินงาน วัฒนธรรมขององค์กร การพัฒนาคุณภาพของบุคลากร การเปลี่ยนแปลงทางด้านระบบ IT ที่มาสนับสนุนการดำเนินงาน และการสร้างเป้าหมายในองค์กรให้เกิดขึ้น
การทดลองทำจนเกิดการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงทำให้แผนกลยุทธ์มีความแม่นยำมากขึ้น เป็นการผสมผสานแนวคิดทฤษฎี 3D Strategy ที่มีแบบแผนกับการเปิดโอกาสให้คนทุกระดับในธุรกิจมีส่วนร่วมในการออกแบบกลยุทธ์ ทำให้แผนกลยุทธ์ที่ออกมาสามารถตอบโจทย์ธุรกิจเพื่อศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดได้ในที่สุด