THE APPLE WAY (วิถีแห่งแอปเปิล) BY JEFFREY L CRUIKSHANK

สรุปโดย ดร.ธนัย ชรินทร์สาร

6 สิงหาคม 2017

 

เขียนโดย JEFFREY L CRUIKSHANK

แปลโดย อนุวัฒน์ ทรัพย์พืชผล และ ธีรกร เกียรติบันลือ

 

วิถีของแอปเปิ้ล หรือ The Apple Way เป็นหนังสือที่จะพาคุณไปพบกับเรื่องราววิธีการดำเนินธุรกิจ ความล้มเหลว ความสำเร็จ และการพัฒนาธุรกิจของบริษัทที่มีชื่อเสียงจากการสร้างนวัตกรรมเป็นอันดับต้นๆของโลก ความสำเร็จของ iPod จนไปถึง iPad อาจจะเป็นข้อพิสูจน์ความสำเร็จที่ต้องแลกมาด้วยเบื้องหลัง ความล้มเหลวหลายครั้งของ Apple ซึ่งประสบการณ์ที่ถ่ายทอดผ่านหนังสือเล่มนี้ ถือเป็นประสบการณ์อันมีค่า ที่จะให้ข้อคิดและมุมมองที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านในการนำไปสร้าง “ วิถี ” ของบริษัทคุณเองได้มากเลยทีเดียว

 

เนื้อหาในหนังสือ

Apple ผ่านการล้มลุกคลุกคลานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองมามากมาย เริ่มตั้งแต่ Lisa นวัตกรรมทางคอมพิวเตอร์ที่ล้ำหน้าที่สุดที่เปิดตัวออกมาในปี 1983 ที่ผลิตออกมาพร้อมกับความล้มเหลวจากการทำงานที่ไม่เสถียร ไม่สามารถเข้ากับคอมพิวเตอร์อื่นๆได้ และมีราคาสูง ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความสำเร็จของ iPod ที่เปิดตัวออกมาด้วยหน้าตาที่ทันสมัย ดึงดูดผู้บริโภคให้เกิดความต้องการเป็นเจ้าของ เปลี่ยนวิถีนักฟังเพลง และทำให้ชีวิตผู้คนสบายมากขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับหนังสือเล่มนี้ คือ การเรียนรู้ที่ไม่เคยหยุดนิ่งของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีอย่าง Apple ความคงเส้นคงวาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคเกิดประสบการณ์ที่ดีกับเเบรนด์ Apple จะมีการคิดล่วงหน้าก่อนเสมอว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับผู้ใช้งานบ้าง เรียกได้ว่า เป็นผู้ควบคุมประสบการณ์ผู้ใช้งานได้ทุกแง่มุมเลยทีเดียว

การมองเห็นอนาคตเป็นเรื่องสำคัญสำหรับองค์กร การมีวิสัยทัศน์และแรงบันดาลใจ ผนวก กับการมีเงินและใช้กลยุทธ์ได้อย่างถูกต้อง อาจยังไม่เพียงพอ หมายถึง องค์กรควรมองหาส่วนที่สำคัญในองค์กรของตนเองให้เจอและให้ความสำคัญกับมันด้วย โดยทำงานด้วยความเชื่อมั่นที่ว่าตนเองสามาถผลิตสิ่งที่ดีกว่าเดิมให้กับลูกค้าได้ แนวคิดที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ นอกจากการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่งแล้ว ยังมีเรื่องของการให้ความสำคัญกับเทคนิคการบริหารงานต่างๆมากมาย เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในแง่การออกแบบที่สามารถอ้างได้ว่า ผลิตภัณฑ์ของ Apple สามารถทำให้ลูกค้าประทับใจจนลืมหายใจ การคุ้มกันเพชรประจำตระกูล ในที่นี้ก็คือ Operating System (OS) การเลือกที่จะลองผิดลองถูกกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดีกว่าการหยุดหาทางเลือก การวางแผนการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ และการให้คำมั่นสัญญากับผู้บริโภค เป็นต้น

อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจตือ การสร้างลัทธิ Apple ที่เริ่มขึ้นในปลายทศวรรษที่ 1970 โดยสิ่งที่ Apple พยายามทำเพื่อสร้างลัทธิหรือการให้ผู้คนมาสนับสนุนแบรนด์และผลิตภัณฑ์ของตนอย่างหมดใจคือ การดึงคนที่มีอิทธิพลเข้ามาร่วมลัทธินี้ให้ได้ก่อน กลุ่มหนึ่งที่ Apple เลือกนั่นคือ พนักงานขาย โดยการขายต่ำกว่าราคาตลาดมาก เพื่อให้พนักงานคุ้นเคยกับสินค้าและสร้างประสิทธิผลให้กับพนักงานมากขึ้น นอกจากนี้ยังมี การสร้างผลิตภัณฑ์ชั้นยอดมากมาย ที่มีความยืดหยุ่นสูง ใช้งานง่าย ปลอดไวรัส และสุดท้ายการปฏิบัติต่อเหล่าคณะที่ปรึกษาของกลุ่มผู้ใช้งาน (Mac User’s Group) ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกได้รับเกียรติ ซึ่งเป็นการเข้าถึงตัวผู้นำทางความคิดและสามารถสร้างเสียงร่ำลือของสินค้าขึ้นมาได้ นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงบทบาทของผู้นำ ทั้งในด้านวิสัยทัศน์ วิธีการทำงานและความผิดพลาดของ CEO แต่ละท่านที่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่ง ทั้ง Amelio, Sculley และ Steve Jobs ซึ่งสำหรับ CEO ท่านสุดท้ายนี้ ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งบริหาร เขาสามารถผลักดันองค์กรให้เป็นผู้นำในตลาดได้ทุกครั้งที่มีผลิตภัณฑ์ออกใหม่ ซึ่งเราทุกคนคงไม่มีใครปฏิเสธว่า Steve Jobs ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ Apple เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หากมองในแง่ของการวางยุทธศาสตร์ของบริษัทนั้น บริษัทควรมีสิ่งที่เป็นแก่นมั่นคง ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อยๆ จนสร้างความสับสนให้กับคนทำงาน การประณีประณอม การเเลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางกลยุทธ์ระหว่างผู้ที่ควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ อย่างเช่น CEO กับผู้จัดการอาวุโส เป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อให้เกิดการส่งต่อนโยบายที่มีประสิทธิภาพ นี่ก็เป็นอีกข้อคิดหนึ่งที่คุณจะพบจากการอ่านหนังสือเล่มนี้
สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ Apple ยืนหยัดมาได้ทุกวันนี้คือ การสร้างความได้เปรียบทางด้านการเเข่งขันอย่างชัดเจน มีพื้นที่ที่ให้ตนเองต่อสู้ในตลาดได้ หมายถึง การหาตำแหน่งทางการตลาดของตนเองให้เจอ การทำตราสินค้าให้ทรงพลัง แต่ทั้งนี้เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า วิถีของ Apple ที่ปราศจากผู้นำอันทรงพลังอย่าง Steve Jobs แล้วนั้น จะยังคงประสบความสำเร็จบนโลกที่มีการเเข่งขันสูงนี้ต่อไปได้หรือไม่