IN SEARCH OF EXCELLENCE (องค์กรขนาดใหญ่ง่ายต่อการยั่งยืน?) BY THOMAS J. PETERS

สรุปโดย ดร.ธนัย ชรินทร์สาร

14 กันยายน 2017

 

เขียนโดย THOMAS J. PETERS 

“องค์กรขนาดใหญ่”

แน่นอนว่า.. ได้เปรียบกว่าแน่เมื่อเทียบกับคู่แข่ง

แน่นอนว่า.. การลงทุนด้านการตลาดชนะเลิศ เพราะซื้อสื่อได้มากกว่า จึงเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่า

แน่นอนว่า.. อำนาจในการต่อรองสูง

แน่นอนว่า.. มีความพร้อมทุกด้านสูง ทั้งหน่วยงานวิจัย ทีมพนักงาน ระบบไอทีที่ทันสมัย เป็นต้น

 

ทอม ปีเตอร์ นักกลยุทธ์ที่มีชื่อเสียงได้รับความนิยมจากผู้อ่านในวงการกลยุทธ์ ได้เขียนหนังสือที่สร้างชื่อเสียงอย่างมากให้กับเขา นั่นคือ In Search of Excellence ซึ่งเนื้อหา ในหนังสือได้มีการจัดอันดับบริษัทรายใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในอดีต โดยระบุปัจจัยต่างๆที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ แต่ภายหลังเมื่อเวลาผ่านไป กลับมีรายงานที่แสดงให้เห็นว่า หลายบริษัทที่อยู่ในการจัดอันดับครั้งนั้น กลับประสบปัญหาและทยอยปิดตัว รวมถึงบางบริษัทที่ยังยืนหยัดอยู่ได้ก็กลับไม่ได้อยู่ในสภาพที่พร้อมจะเเข่งขันได้เท่าใดนัก นั่นจึงเป็นคำถามชวนให้คิดเหลือเกินว่า ความใหญ่ขององค์กรจะเป็นเครื่องยืนยันว่าบริษัทจะยิ่งใหญ่ต่อไปได้จริงหรือ?

2017-09-14
THE APPLE WAY (วิถีแห่งแอปเปิล) BY JEFFREY L CRUIKSHANK

สรุปโดย ดร.ธนัย ชรินทร์สาร

6 สิงหาคม 2017

 

เขียนโดย JEFFREY L CRUIKSHANK

แปลโดย อนุวัฒน์ ทรัพย์พืชผล และ ธีรกร เกียรติบันลือ

 

วิถีของแอปเปิ้ล หรือ The Apple Way เป็นหนังสือที่จะพาคุณไปพบกับเรื่องราววิธีการดำเนินธุรกิจ ความล้มเหลว ความสำเร็จ และการพัฒนาธุรกิจของบริษัทที่มีชื่อเสียงจากการสร้างนวัตกรรมเป็นอันดับต้นๆของโลก ความสำเร็จของ iPod จนไปถึง iPad อาจจะเป็นข้อพิสูจน์ความสำเร็จที่ต้องแลกมาด้วยเบื้องหลัง ความล้มเหลวหลายครั้งของ Apple ซึ่งประสบการณ์ที่ถ่ายทอดผ่านหนังสือเล่มนี้ ถือเป็นประสบการณ์อันมีค่า ที่จะให้ข้อคิดและมุมมองที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านในการนำไปสร้าง “ วิถี ” ของบริษัทคุณเองได้มากเลยทีเดียว

 

เนื้อหาในหนังสือ

Apple ผ่านการล้มลุกคลุกคลานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองมามากมาย เริ่มตั้งแต่ Lisa นวัตกรรมทางคอมพิวเตอร์ที่ล้ำหน้าที่สุดที่เปิดตัวออกมาในปี 1983 ที่ผลิตออกมาพร้อมกับความล้มเหลวจากการทำงานที่ไม่เสถียร ไม่สามารถเข้ากับคอมพิวเตอร์อื่นๆได้ และมีราคาสูง ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความสำเร็จของ iPod ที่เปิดตัวออกมาด้วยหน้าตาที่ทันสมัย ดึงดูดผู้บริโภคให้เกิดความต้องการเป็นเจ้าของ เปลี่ยนวิถีนักฟังเพลง และทำให้ชีวิตผู้คนสบายมากขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับหนังสือเล่มนี้ คือ การเรียนรู้ที่ไม่เคยหยุดนิ่งของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีอย่าง Apple ความคงเส้นคงวาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคเกิดประสบการณ์ที่ดีกับเเบรนด์ Apple จะมีการคิดล่วงหน้าก่อนเสมอว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับผู้ใช้งานบ้าง เรียกได้ว่า เป็นผู้ควบคุมประสบการณ์ผู้ใช้งานได้ทุกแง่มุมเลยทีเดียว

การมองเห็นอนาคตเป็นเรื่องสำคัญสำหรับองค์กร การมีวิสัยทัศน์และแรงบันดาลใจ ผนวก กับการมีเงินและใช้กลยุทธ์ได้อย่างถูกต้อง อาจยังไม่เพียงพอ หมายถึง องค์กรควรมองหาส่วนที่สำคัญในองค์กรของตนเองให้เจอและให้ความสำคัญกับมันด้วย โดยทำงานด้วยความเชื่อมั่นที่ว่าตนเองสามาถผลิตสิ่งที่ดีกว่าเดิมให้กับลูกค้าได้ แนวคิดที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ นอกจากการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่งแล้ว ยังมีเรื่องของการให้ความสำคัญกับเทคนิคการบริหารงานต่างๆมากมาย เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในแง่การออกแบบที่สามารถอ้างได้ว่า ผลิตภัณฑ์ของ Apple สามารถทำให้ลูกค้าประทับใจจนลืมหายใจ การคุ้มกันเพชรประจำตระกูล ในที่นี้ก็คือ Operating System (OS) การเลือกที่จะลองผิดลองถูกกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดีกว่าการหยุดหาทางเลือก การวางแผนการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ และการให้คำมั่นสัญญากับผู้บริโภค เป็นต้น

อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจตือ การสร้างลัทธิ Apple ที่เริ่มขึ้นในปลายทศวรรษที่ 1970 โดยสิ่งที่ Apple พยายามทำเพื่อสร้างลัทธิหรือการให้ผู้คนมาสนับสนุนแบรนด์และผลิตภัณฑ์ของตนอย่างหมดใจคือ การดึงคนที่มีอิทธิพลเข้ามาร่วมลัทธินี้ให้ได้ก่อน กลุ่มหนึ่งที่ Apple เลือกนั่นคือ พนักงานขาย โดยการขายต่ำกว่าราคาตลาดมาก เพื่อให้พนักงานคุ้นเคยกับสินค้าและสร้างประสิทธิผลให้กับพนักงานมากขึ้น นอกจากนี้ยังมี การสร้างผลิตภัณฑ์ชั้นยอดมากมาย ที่มีความยืดหยุ่นสูง ใช้งานง่าย ปลอดไวรัส และสุดท้ายการปฏิบัติต่อเหล่าคณะที่ปรึกษาของกลุ่มผู้ใช้งาน (Mac User’s Group) ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกได้รับเกียรติ ซึ่งเป็นการเข้าถึงตัวผู้นำทางความคิดและสามารถสร้างเสียงร่ำลือของสินค้าขึ้นมาได้ นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงบทบาทของผู้นำ ทั้งในด้านวิสัยทัศน์ วิธีการทำงานและความผิดพลาดของ CEO แต่ละท่านที่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่ง ทั้ง Amelio, Sculley และ Steve Jobs ซึ่งสำหรับ CEO ท่านสุดท้ายนี้ ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งบริหาร เขาสามารถผลักดันองค์กรให้เป็นผู้นำในตลาดได้ทุกครั้งที่มีผลิตภัณฑ์ออกใหม่ ซึ่งเราทุกคนคงไม่มีใครปฏิเสธว่า Steve Jobs ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ Apple เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หากมองในแง่ของการวางยุทธศาสตร์ของบริษัทนั้น บริษัทควรมีสิ่งที่เป็นแก่นมั่นคง ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อยๆ จนสร้างความสับสนให้กับคนทำงาน การประณีประณอม การเเลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางกลยุทธ์ระหว่างผู้ที่ควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ อย่างเช่น CEO กับผู้จัดการอาวุโส เป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อให้เกิดการส่งต่อนโยบายที่มีประสิทธิภาพ นี่ก็เป็นอีกข้อคิดหนึ่งที่คุณจะพบจากการอ่านหนังสือเล่มนี้
สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ Apple ยืนหยัดมาได้ทุกวันนี้คือ การสร้างความได้เปรียบทางด้านการเเข่งขันอย่างชัดเจน มีพื้นที่ที่ให้ตนเองต่อสู้ในตลาดได้ หมายถึง การหาตำแหน่งทางการตลาดของตนเองให้เจอ การทำตราสินค้าให้ทรงพลัง แต่ทั้งนี้เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า วิถีของ Apple ที่ปราศจากผู้นำอันทรงพลังอย่าง Steve Jobs แล้วนั้น จะยังคงประสบความสำเร็จบนโลกที่มีการเเข่งขันสูงนี้ต่อไปได้หรือไม่

2017-08-06
STRATEGY MOVES (วางหมากปรับกลยุทธ์) เขียนโดย JORGE A. VASCONCELLOS E SA

สรุปโดย ดร.ธนัย ชรินทร์สาร

22 พฤษภาคม 2017

 

เขียนโดย JORGE A. VASCONCELLOS E SA

แปลโดย สุวัฒน์ หลีเหม

 

การวางหมากปรับกลยุทธ์เป็นหนังสือเล่มที่ควรมีไว้เป็นคู่มือในการวางแผนธุรกิจอย่างมาก ความน่าสนใจของการนำเสนอเชิงเปรียบเทียบและยกตัวอย่างจากกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง ทำให้ผู้อ่านสามารถเพลิดเพลินไปกับความหลากหลายของกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้ในแต่ละสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป โดยหลักสำคัญ 4 ประการที่ระบุไว้ในหนังสือเล่มนี้ คือ ไม่มีสิ่งใดบันทึกไว้ หมายถึง ทุกคนมีโอกาสชนะและแพ้เท่าๆกัน ขึ้นอยู่กับการนำกลยุทธ์เหล่านั้นไปใช้ และการเลือกจังหวะที่ใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม หลักการเชิงกลยุทธ์ที่กล่าวไว้นี้ “ไร้กาลเวลา” นั่นคือ ความสำเร็จของกลยุทธ์ต่างๆมีกฎไว้แล้ว ผู้ที่ทำผิดพลาดน้อยที่สุดจึงเป็นผู้ที่มีโอกาสชนะมากที่สุด ธุรกิจคือความไม่แน่นอน และสุดท้าย กฎทั้งสามข้อข้างต้นมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจาก สงครามธุรกิจไม่มีความสิ้นสุด

 

เนื้อหาในหนังสือ

หนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ 14 ประการ แบ่งออกเป็น การโจมตี 6 แบบและการป้องกันอีก 8 แบบ การเลือกโจมตีหรือป้องกันขึ้นกับสถานการณ์ในขณะนั้น ซึ่งได้มีการอธิบาย รายละเอียดของการเคลื่อนไหวแต่ละแบบเปรียบเทียบกับการทำธุรกิจจริง รวมถึงแนะนำจังหวะที่เหมาะสมต่อการเลือกใช้กลยุทธ์แต่ละแบบอีกด้วย

 

การต่อสู้ระหว่างกองทัพอังกฤษกับกองทัพซูลูในปี 1879 เป็นตัวอย่างที่หนังสือเล่มนี้ยกมาอธิบายหลักสำคัญข้อแรกที่กล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดบันทึกไว้ เหตุการณ์ที่หยิบยกอธิบายถึงลักษณะเด่น 4 ประการในสถานการณ์นี้ คือ การรู้จักบุคลิกลักษณะและแผนการของศัตรู การมุ่งเน้น การเลือกภูมิประเทศ และการสร้างความประหลาดใจให้กับศัตรู ส่วนรายละเอียดของการสู้รบเป็นอย่างไร ขอให้ผู้อ่านรับอรรถรสจากการอ่านเล่มจริงจะดีกว่า เพราะผู้แปลมีการบรรยายได้เห็นภาพทีเดียว

 

สำหรับกลยุทธ์ในการโจมตีในหนังสือเล่มนี้หมายความถึง การมุ่งการมุ่งเข้าไปสู่สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นโดยความริเริ่มของเรา เช่น อุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่เดิม, อุตสาหกรรมเดิมในพื้นที่ใหม่, อุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่ใหม่ การป้องกันในความหมายของหนังสือเล่มนี้จึงเป็นไปในทางตรงข้าม นั่นคือ เป็นการตอบโต้คู่แข่งที่เข้ามาสู่เซ็กเมนต์ของเรา

 

กลยุทธ์การโจมตีทั้ง 6 กลยุทธ์นั้น ประกอบไปด้วย แบบกองโจร (Guerrilla), ทางอ้อม (Bypass), ขนาบข้าง (Flanking), โจมตีซึ่งหน้า (Frontal Attack), โอบล้อมอย่างไม่แตกต่าง (Undifferentiated Circle), และโอบล้อมอย่างแตกต่าง (Differentiated Circle) โดยกลยุทธ์ 4 ประเภทแรกจะใช้เมื่อต้องการเข้าไปสู้เซ็กเมนต์เดี่ยว ส่วน 2 ประเภทสุดท้าย (การโอบล้อมทั้ง 2 ประเภท) จะใช้เมื่อต้องการเข้าสู่ 2 เซ็กเมนต์หรือมากกว่านั้น ความสำเร็จในการแข่งขันนั้นขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ที่เราปฏบัติโดยคำนึงถึงบริษัทที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่เราจะเข้าไป

 

ในส่วนกลยุทธ์ป้องกันอีก 8 ประการ นั้นได้แก่ การให้สัญญาณ การสร้างสิ่งกีดขวางการเข้ามา การให้บริการระดับโลก การโจมตีเพื่อยึดเอาเสียก่อน การสกัดกั้น การโจมตีแบบสวนกลับ การยึดที่มั่น และการถอนตัว ใน 8 กลยุทธ์นี้ กลยุทธ์การให้สัญญาณ การสร้างสิ่งกีดขวางการเข้ามา และการยึดที่มั่น เป็นการป้องกันที่บริษัทไม่ได้เข้าสู่ตลาดใหม่ แต่ยืนนิ่งหรือเพียงยึดที่มั่นไว้ ส่วนกลยุทธ์ที่เหลืออีก 5 กลยุทธ์เป็นการตอบโต้คู่แข่ง เพื่อทำให้คู่แข่งพ่ายแพ้ไป โดยส่วนใหญ่กลยุทธ์การป้องกันมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่า เพราะผู้ป้องกันอาจเป็นรายแรกที่เข้าไปในตลาด ทำให้ตราสินค้าสัมพันธ์กับผลิตภัณฑ์ไปแล้วในใจลูกค้า อีกทั้งบริษัทที่อยู่มาก่อนยังมีความชำนาญในตลาดนั้นมากกว่า พร้อมทั้งอาจมีขนาดใหญ่กว่าและมีการเสริมประสานพลังกันมากกว่าผู้ที่จะเข้ามาใหม่

 

ด้วยเหตุที่มีกลยุทธ์มากมายให้นำไปใช้ทั้งการโจมตีและการตั้งรับ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าการป้องกันตลาดของเราย่อมง่ายกว่าการโจมตีตลาดใหม่ หนังสือเล่มนี้จึงได้มีการหยิบยกปัจจัยสำคัญในการพิจารณาการเลือกใช้กลยุทธ์อย่างเหมาะสมไว้ด้วย นอกจากนี้ ยังนำเสนอแนวคิดองค์กรพันธมิตร คำที่มีความหมายถึงการรวมกลุ่มหลายๆประเภทเข้าด้วยกัน ยิ่งผลกระทบระหว่างองค์กรมีมากขึ้น รูปแบบของพันธมิตรมีตั้งแต่ระดับห่างๆจนถึงพันธมิตรแบบเหนียวแน่นที่สุดคือ การควบรวมบริษัท ซึ่งลักษณะของการเป็นพันธมิตรแต่ละรูปแบบได้ถูกอธิบายไว้อย่่างละเอียดเช่นกัน

 

การเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสงครามธุรกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุดนี้เอง โอกาสชนะจึงเป็นของผู้ที่ตั้งมั่นและไม่ประมาทในการดำเนินธุรกิจแม้แต่ก้าวเดียว

 

 

2017-05-22
THE LONG TAIL (กลยุทธ์ลองเทล) เขียนโดย CHRIS ANDERSON

สรุปโดย ดร.ธนัย ชรินทร์สาร

2 เมษายน 2017

 

THE LONG TAIL (กลยุทธ์ลองเทล)

เขียนโดย CHRIS ANDERSON

แปลโดย ประวัติ เพียนเจริญ

 

หนังสือเล่มนี้เป็นการแปลผลงานการเขียนของ Chris Anderson ที่พูดถึงกลยุทธ์ลองเทลจากการสังเกตเห็นปรากฏการณ์ที่กำลังเปลี่ยนไปของโลกแห่งข้อจำกัดใบเดิมเป็นโลกแห่งโอกาสที่ไร้ข้อจำกัดใบใหม่ Andersonได้ศึกษา รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์อย่างลงลึก และสรุปเป็นกฎที่น่าสนใจยิ่ง ไม่ใช่แต่เพียงมุมมองในเชิงเศรษฐศาสตร์เท่านั้น แต่เป็นมุมมองที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนในแวดวงโลกออนไลน์ โลกเสมือนจริงที่มีทางเลือกมากมายและทรัพยากรที่มีอย่างไม่จำกัด เนื้อหาในหนังสือจึงทำให้ผู้อ่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในแวดวงการบริหารธุรกิจและการค้า เกิดการเรียนรู้และสามารถปรับตัวเคลื่อนไปอย่างเท่าทันเพื่อสร้างความอยู่รอดและการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

 

เนื้อหาในหนังสือ

Anderson ได้อธิบายความเปลี่ยนไปของโลกปัจจุบันนี้ไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า วัฒนธรรมในอนาคตไม่ใช่โลกของสินค้ายอดนิยม (Hits) อีกต่อไป แต่จะตกอยู่ในมือของสินค้าที่เคยถูกมองว่าขายไม่ออก (Misses) หรือ ตลาดนิช (Niche) นับพันๆแห่ง ที่เกิดจากการแตกเป็นส่วนย่อยมากมายของตลาดในอดีต ซึ่งเป็นโอกาสที่ซ่อนอยู่อย่างมหาศาลสำหรับธุรกิจผู้ให้บริการหน้าใหม่ที่รวบรวมความต้องการของสินค้าหรือความต้องการใหม่ๆเข้าไว้ด้วยกัน หรือเเม้กระทั่งเป็นผู้กำหนดรสนิยมใหม่ได้เลย

 

นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงพฤติกรรมของระบบการจัดจำหน่ายสินค้าแบบออนไลน์ที่ต่างไปจากระบบการจัดจำหน่ายสินค้าแบบเดิม เพราะไร้ข้อจำกัดทั้งในด้านกายภาพและเวลา Anderson มองเห็นว่า “การที่สมัยก่อน ผู้บริโภคเลือกเช่าภาพยนตร์ อ่านหนังสือ หรือฟังเพลงแต่เฉพาะ Best Seller นั่นเป็นเพราะลูกค้ามีทางเลือกจำกัด แต่ปัจจุบัน Internet ได้ทำลายข้อจำกัดดังกล่าว ส่งผลให้สินค้าที่ไม่เคยขายได้ กลับกลายเป็นเริ่มขายดีบ้าง และเมื่อรวมยอดขายของสินค้าที่ขายได้เหล่านี้ กลับพบว่ามีมากจนน่าตกใจ” ดังนั้น การขายปลีกยุคใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะของความฮิต แต่เป็นการสร้างตัวเลือกจำนวนมากๆ เพื่อเพิ่มโอกาสที่มันจะเหมาะสำหรับใครสักคน หนังสือ หนัง เพลง เกมส์จากผู้ผลิตรายเล็กๆหรืออินดี้ จะไม่ต้องหลบอยู่หลังชั้นหรือถอยให้กับหนังสือ หนัง เพลง เกมส์ที่ถูกอัดด้วยกระแสโปรโมทอีกต่อไป

 

ส่วนคำว่า Long Tail นั้นมาจากกราฟกระจายตัวของยอดขายที่ Anderson ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการขายจากหลากหลายธุรกิจและสรุปออกมาเป็นกลยุทธ์นี้ สำหรับกลไกหรือแรงขับที่ผลักดันกลยุทธ์ลองเทลนี้ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ

 

ผู้ผลิต ในวันนี้การผลิตสินค้าสามารถทำได้ง่ายขึ้น ใครก็สามารถผลิตสินค้าขึ้นมาเทียบเท่ามืออาชีพได้ เช่น หนังสั้น อัลบั้มเพลง หรือหนังสือ ผลคือ การที่เรามีเนื้อหา (Content) มหาศาลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นการต่อส่วนหางของยอดขายให้กระจายออกไป การตัดต้นทุนการบริโภคลง โดยปลดปล่อยช่องทางการกระจายสินค้า นั่นคือ การมีอินเตอร์เน็ท ทำให้ต้นทุนการเข้าถึงของคนจำนวนมากถูกลงและเพิ่มสภาพคล่องในตลาดบริเวณส่วนหางของกราฟ เกิดการบริโภคได้มากขึ้นและสามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเชื่อมต่อ Supply และ Demand อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และขับเคลื่อนอุปสงค์ไปยังส่วนหาง มีการใช้การสื่อสารแบบปากต่อปาก (Word of Mouth) ผ่าน Social Network และ Blog แสดงความคิดเห็น โดยหลักคือ Search Engine ซึ่งส่งผลให้เกิด “การลดต้นทุนการค้นหา” ในเนื้อหาหรือสินค้านิชของผู้บริโภคนั่นเอง

 

สำหรับเคล็ดลับในการสร้างธุรกิจแบบ Long Tail ให้เติบโตก้าวหน้า Anderson ได้สรุปเป็น 2 ปัจจัยหลักคือ เสนอทุกสิ่งทุกอย่างให้ลูกค้าเลือก และช่วยพวกเขาหาสิ่งที่ต้องการให้พบ

 

ในโลกของวงการบันเทิงและข้อมูลข่าวสาร ข้อจำกัดต่างๆของชั้นวางสินค้าและช่องทางการกระขายสินค้าหายไปพร้อมกับอุปสงค์ของสินค้าแบบครอบจักรวาล การเกิดขึ้นของความหลากหลายอย่างเหลือเฟือจากประสิทธิภาพอันทรงพลังของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ในวัฒนธรรมของเราทุกวันนี้ กำลังจะขยายตัวและเเพร่กระจายไปยังทุกส่วนของชีวิตเรา คำถามในวันพรุ่งนี้ไม่ใช่ว่า การมีทางเลือกมากขึ้นนั้นดีหรือไม่ แต่กลับกลายเป็นว่า อะไรคือสิ่งที่เราต้องการจริงๆต่างหาก บนชั้นวางสินค้าในทางเดินที่ไม่มีที่สิ้นสุดนี้ ทุกอย่างย่อมเป็นไปได้ทั้งนั้น

 

2017-04-02